วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย
- เพื่อทราบอุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนทางยาในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการใช้ยา
- เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของความคลาดเคลื่อนทางยาและหาแนวทางการป้องกันการเกิดความคลาดเคลื่อนซ้ำ
ขอบข่าย/ขอบเขต
ค้นหาข้อมูลความคลาดเคลื่อนทางยาตั้งแต่กระบวนการการสั่งใช้ยา (Prescribing) การถ่ายทอดคำสั่งใช้ยา (Transcribing) การจัดยา/พิมพ์ยา/ตรวจรายการยาก่อนจ่ายยา (Pre-dispensing) การจ่ายยา (Dispensing) การบริหารยา (Administration) ที่เกิดจากแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากการเก็บข้อมูลภายในห้องจ่ายยาและรายงานการเกิดอุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนโรงพยาบาลกาฬสินธุ์
กระบวนการ
การป้องกันความคลาดเคลื่อนจากการสั่งใช้ยา
- คำสั่งใช้ยาควรมีความสมบูรณ์ คือ มีชื่อยา รูปแบบของยา ขนาด ความแรง ปริมาณ วิธีการให้ยา อัตราการให้ ความถี่ในการให้ยา การเขียนคำสั่งใช้ยาควรใช้ชื่อสามัญทางยา พร้อมระบุความแรงของยาที่ต้องการ เพื่อป้องกันความสับสนจากชื่อการค้าที่มีความคล้ายคลึงกัน กรณีผู้ป่วยเด็ก ให้ระบุขนาดใช้ต่อน้ำหนักตัวเป็น mg/kg
- คำสั่งใช้ยาควรมีความเหมาะสม คือ การสั่งใช้ยาเหมาะสมในประเด็นต่อไปนี้ ขนาดและวิธีบริหารยาไม่เหมาะสม สั่งใช้ยาซ้ำซ้อน สั่งใช้ยาที่มีปฏิกิริยาระหว่างยา สั่งใช้ยาที่มีประวัติแพ้ยา/หรือกลุ่มเดียวกัน ไม่สั่ง OFF ยาเดิม ระยะเวลาให้ยาไม่เหมาะสม สั่งใช้ยาไม่เหมาะสมกับโรค สั่งยาไม่เหมาะสมกับภาวะผู้ป่วย ลืมสั่งยาเดิม(โรคเรื้อรัง) ลืมให้ยา Prophylaxis ลืมสั่งยารักษาภาวะโรคของผู้ป่วย ไม่ได้ยาตาม Protocol
- กรณีที่มีความแรงของยามากกว่า 1 ชนิด ให้มีการระบุความแรงของยาให้ชัดเจนในการสั่งใช้ยาแต่ละครั้ง ซึ่งการระบุความแรงจะสามารถยืนยันความถูกต้องในการอ่านชื่อยาได้อีกทางหนึ่ง
- ทบทวนรายการยาที่มีลักษณะคล้ายกัน ชื่อยาออกเสียงคล้ายกัน (ชื่อพ้อง มองคล้าย) ที่มีใช้ในโรงพยาบาลอย่างน้อยปีละครั้ง และมีกระบวนการที่จะป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการสลับรายการยาดังกล่าว
- เขียนคำสั่งใช้ยาอย่างชัดเจน อ่านง่าย ด้วยปากกาลูกลื่นเท่านั้นห้ามใช้ปากกาหมึกซึมและห้ามใช้ใบ Doctor Order Sheet ซ้อนกัน ถ้าจำเป็นให้เขียนชื่อตัวยาด้วยตัวพิมพ์ พร้อมทั้งเซ็นชื่อแพทย์ผู้สั่งใช้ กำกับทุกครั้ง หากเขียนผิดและต้องการแก้ไขให้ขีดฆ่าคำสั่งใช้ยาเดิม แล้วเขียนใหม่ และเซ็นชื่อ กำกับ ไม่ใช้น้ำยาลบคำผิดลบ ลงเวลาในการสั่งใช้ยาทุกครั้ง
- ให้ระบุข้อบ่งชี้ ในการใช้ยาตามอาการ(ยา prn)/หรือการวินิจฉัยทุกครั้ง สำหรับแต่ละคำสั่งให้ชัดเจน
- ก่อนสั่งหรือให้ยา ที่ไม่คุ้นเคยให้เปิดคู่มือ หรือ ปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับขนาดยา วิธีให้และข้อควรระวัง
- การเปลี่ยนแปลงคำสั่งใช้ยา ให้มีการสื่อสารที่ชัดเจนทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษร ไม่ย้อนไปเติมชื่อยาในคำสั่งส่วนที่มีการรับทราบคำสั่งไปแล้ว ทำสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่ามีการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งใช้ยา เช่น การพับใบคำสั่งแพทย์
- ในการ off ยา ไม่ควรใช้สัญลักษณ์ปีกกา ควร Off ยา ในแต่ละรายการ
- คำสั่งใช้ยา 1 ชนิด ควรมีการระบุวิธีใช้วิธีเดียว หากต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีใช้ ควร Off คำสั่งใช้ยาเดิม แล้วเขียนคำสั่งใหม่ เพื่อป้องกันความสับสนจากการที่ยาชนิดเดียวมีคำสั่งใช้ 2 แบบ
- ยาสั่งใช้ยาโรคเรื้อรังเดิม ไม่ควรเขียนคำว่า "ยาเดิม" ควรคัดลอกรายการยาที่มีความจำเป็นต้องรับอย่างต่อเนื่องลงในใบสั่งยา
- การสั่งใช้ยาเดิมโรคเรื้อรัง ต้องซักประวัติ สืบค้น ทบทวนประวัติการใช้ยาล่าสุดทุกครั้ง รวมถึงทราบวิธีการรับประทานยาจริงของผู้ป่วย และเวลาสุดท้ายที่ผู้ป่วยได้รับประทานยา
- การสั่งใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ควรสั่งตรวจผลตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการสั่งใช้ยาอย่างเหมาะสม เช่น การสั่งใช้ยาต้านวัณโรค ยาต้านไวรัส ต้องทราบค่าการทำงานของตับและไตที่เป็นปัจจุบัน การสั่งใช้ยา Warfarin ต้องทราบค่า INR การสั่งใช้ยา KCl ต้องทราบค่า K ในเลือด เป็นต้น
- ในระบบผู้ป่วยนอก กำหนดให้ทำการสั่งใช้ยาผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทุกราย เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นของผู้ป่วย และมีการกำหนดวิธีใช้ยาที่เป็นมาตรฐาน
- มีระบบป้องกันการสั่งใช้ยาที่ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ และระบบป้องกันการสั่งใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกัน การสั่งใช้ยาตามนโยบาย RDU
การป้องกันความคลาดเคลื่อนในกระบวนการถ่ายทอดคำสั่ง
- การรับคำสั่ง ต้องไม่คาดเดาคำสั่งการรักษา หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อแพทย์เพื่อขอคำยืนยันเกี่ยวกับชื่อยา ขนาดยา วิธีใช้ ข้อบ่งชี้ และกรณีที่มีคำสั่งใช้ยาซ้ำซ้อน ซึ่งอาจเกิดจากผู้ป่วยได้รับการดูแลโดยแพทย์หลายแผนก ให้ขอคำยืนยันคำสั่งแพทย์ ก่อนใช้ยา
- หลีกเลี่ยงการใช้คำสั่งการรักษาด้วยวาจา หรือสั่งการรักษาทางโทรศัพท์ ถ้าจำเป็นต้องสั่งจะต้องมีการทบทวนคำสั่งทุกครั้งเพื่อยืนยันขนาดยา วิธีการกำหนดการให้ยา และคำแนะนำอื่นๆ โดยบันทึกคำสั่งการรักษาลงใน Doctor Order Sheet เท่านั้น แล้วจึงทวนคำสั่งการรักษาโดยการอ่านทวนกลับจากสิ่งที่บันทึกให้เป็นที่เข้าใจถูกต้องตรงกันทั้งฝ่ายผู้ให้คำสั่งและฝ่ายผู้รับคำสั่ง พร้อมลงชื่อผู้รับคำสั่งจากแพทย์และเวลาที่รับคำสั่งใน Doctor Order Sheet
- มีระบบป้องกันการสั่งใช้ยาที่ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ และระบบป้องกันการสั่งใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกัน ดังนั้นขณะเรียกดูข้อมูลในคอมพิวเตอร์ หากพบ Message Alert ขึ้นที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรนำข้อมูลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย ไม่ละเลย มองข้ามความสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลเตือนเกี่ยวกับอาการแพ้ยาของผู้ป่วย และ ข้อมูลการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา
การป้องกันความคลาดเคลื่อนในกระบวนการก่อนจ่ายยา
- การพิมพ์ยาหรือจัดยามีการตรวจสอบใบยา/รายการยาให้ละเอียด โดยตรวจสอบทั้งชื่อผู้ป่วย ชนิดของยา ขนาดยา วิธีการให้ จำนวน การเก็บรักษา ให้ถูกต้องก่อนถึงเภสัชกร
- ข้อมูลในใบสั่งยาต้องทำการตรวจสอบคัดกรองโดยปรึกษาเภสัชกรก่อนทำการพิมพ์ยาและจัดยา
การป้องกันความคลาดเคลื่อนจากการจ่ายยา
- มีการตรวจสอบคำสั่งใช้ยาโดยเภสัชกร โดยตรวจสอบทั้งชื่อผู้ป่วย ชนิดของยา ขนาดยา เวลา วิธีการให้ อัตราการให้ ความถี่ในการให้ยา รวมถึงดูข้อห้าม การแพ้ยา ปฏิกิริยาระหว่างยา เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างเหมาะสม ก่อนจ่ายยา และบันทึกการจ่ายยาทุกรายผ่านโปรแกรม PharMS ซึ่งช่วยให้เภสัชกรผู้จ่ายเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยที่จำเป็น และเข้าถึงการส่งต่อข้อมูลที่สำคัญใช้ประกอบการจ่ายยาให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม
- หากข้อมูลในใบสั่งยาไม่ชัดเจนต้องทำการตรวจสอบกลับไปยังแพทย์ผู้สั่งใช้ยาก่อนทำการจ่ายยา ยกเว้นกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถติดต่อแพทย์ผู้สั่งใช้ยาได้ ให้เภสัชกรถามความเห็นไปยังแพทย์ที่เกี่ยวข้องท่านอื่นซึ่งเชี่ยวชาญในสาขานั้น
การป้องกันความคลาดเคลื่อนจากการบริหารยา
- ตรวจสอบความถูกต้องเมื่อรับยาจากห้องจ่ายยา ทั้งชื่อผู้ป่วย ชนิดของยา ความแรง รูปแบบยา เตรียม จำนวน หากเป็นยาใหม่ที่ไม่คุ้นเคยและไม่มีฉลากยาหรือข้อมูลยาระบุว่าเป็นยาที่แพทย์สั่ง หรือไม่ ให้สอบถามกลับไปยังห้องจ่ายยาเพื่อยืนยันความถูกต้องของยาทุกครั้ง
- สำรองยาไว้ในหอผู้ป่วยเท่าที่จำเป็น คืนยาทั้งหมดที่ยุติการใช้แล้วกลับไปที่ห้องจ่ายยา เพื่อลดโอกาสในการเกิดความคลาดเคลื่อน หากมีการย้ายเตียงผู้ป่วย ให้ตรวจสอบว่ามีการย้ายยาของผู้ป่วยรายนั้นไปไว้ในช่องเก็บยาที่ถูกต้อง กรณียาเสพติด ให้เก็บแยกจากยาอื่น และมีการติดฉลากระบุชื่อยาที่ชัดเจน เห็นเด่นชัด ยาแช่เย็น ยาที่ป้องกันแสง ยาที่มีความเสี่ยงสูง (HAD) ควรจัดเก็บตามวิธีการที่ระบุในคู่มือการใช้ยา
- การจัดเตรียมยา ต้องมีตรวจสอบความถูกต้องในการจัดเตรียมยา โดยเฉพาะกรณียาฉีดจะต้องมีการอ่านฉลากยาซ้ำ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนผสมยา จัดเตรียมยาด้วยความระมัดระวัง ให้เกิดความถูกต้องทั้งชนิดยา ชนิดของสารละลายที่ใช้ ความเข้มข้นที่ต้องการ และมีการติดฉลากชี้บ่งเพื่อป้องกันการให้ยาผิดคน ผิดชนิด ผิดขนาด ผิดเวลา ผิดวิธี หลีกเลี่ยงการผสมยาหลายชนิดเข้าด้วยกันโดยไม่จำเป็นเพื่อป้องกันปัญหาความเข้ากันไม่ได้ของยา
- การบริหารยาต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนให้ ทั้งชื่อผู้ป่วย ชนิดของยา รูปแบบยาเตรียม ความแรง ขนาดยา เวลาที่ให้ วิธีบริหารยา รวมถึงเทคนิคการให้ยากรณียารับประทาน ควรดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อหน้า กรณียาฉีด จะต้องคำนึงถึงอัตราเร็วในการให้ยาทุกครั้ง
กระบวนการรับและรายงานความคลาดเคลื่อนทางยา
- ทุกวิชาชีพที่พบความคลาดเคลื่อนทางยา ประเมินระดับความรุนแรง รายงานผลความคลาดเคลื่อนแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว แจ้งแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง หากระดับความรุนแรงระดับ E ขึ้นไป ให้ผู้พบเหตุการณ์รายงานให้หัวหน้าหน่วยงานรับทราบตามลำดับขั้นตอน
- ช่องทางการรายงาน ได้แก่
- แจ้งกลุ่มงานเภสัชกรรม
- บันทึกรายงานของหอผู้ป่วย/หน่วยงาน
- บันทึกรายงานความเสี่ยงผ่านระบบ Intranet ของโรงพยาบาล
- บันทึกรายงานความเสี่ยงในโปรแกรม PharMS ของระบบยา
- ข้อมูลทุกช่องทางจะถูกนำมารวบรวม ประมวลผล วิเคราะห์ ค้นหาสาเหตุรากเหง้า วางแผนแก้ไข พัฒนา ติดตามแบบวงล้อคุณภาพต่อไป