หลักการและเหตุผล
กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อตอบสนองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากร ตลอดจนความต้องการด้านสุขภาพของประเทศได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยมีการขับเคลื่อนผ่านการจัดทำแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) รวมถึงการพัฒนารูปแบบระบบบริการที่เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ จนถึงศูนย์เชี่ยวชาญระดับสูง
ระบบยาเป็นส่วนสำคัญในระบบบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีการออกระเบียบ ข้อบังคับ กฎกระทรวง ประกาศ มาตรฐาน และแนวทางต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์
การบริหารความปลอดภัยด้านยาสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่าง ๆ มีรูปแบบและวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปตามบริบทเฉพาะของแต่ละโรงพยาบาล เภสัชกรในฐานะเป็นผู้ให้การบริบาลทางเภสัชกรรม จะต้องจัดให้มีการบริการและบริบาลเภสัชกรรม โดยให้ความสำคัญและสนใจต่อผลลัพธ์ของการให้บริการและการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยด้านยาในโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและติดตามผลดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการเภสัชกรรมที่มีคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัย กองบริหารการสาธารณสุขจึงจัดประชุมชี้แจงแนวทางการประเมินตนเองและการ ใช้โปรแกรมประเมินความปลอดภัยด้านยาในโรงพยาบาล และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๕
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมให้โรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัฒนาระบบเภสัชกรรมให้เกิดความปลอดภัยด้านยาแก่ผู้รับบริการ
- เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Best practice ด้านระบบเภสัชกรรม
- เพื่อพัฒนาเภสัชกร และบุคลากรในสายงานเภสัชกรรมให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยด้านยาตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านยา และมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรม
- เพื่อหาโอกาสในการพัฒนาระบบงานภายในหน่วยงานและประเด็นและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบความปลอดภัยด้านยาประเทศรวม
คำชี้แจง แบบประเมินมาตรฐานความปลอดภัยด้านยา
- แบบประเมินฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการประเมินตนเองและใช้ประเมินโดยองค์กรภายนอกด้านความปลอดภัยด้านยา และนำหลักเกณฑ์จากการประเมิน รวมทั้งผลการประเมินนำมาทบทวนการดำเนินการของโรงพยาบาลให้เกิดการพัฒนาองค์กรในการจัดการด้านความปลอดภัยด้านยา ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจแก่กระทรวงสาธารณสุข และผู้รับบริการ ว่าโรงพยาบาลสามารถดำเนินการจัดการด้านยาที่ปลอดภัยเหมาะสมและได้ผลพร้อมทั้งการมียาที่มีคุณภาพสูงพร้อมใช้สำหรับผู้ป่วย
- แบบประเมินฉบับนี้แบ่งเป็น 2 ตอน ประกอบด้วย
- ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของโรงพยาบาล และผู้ให้ข้อมูล
- ตอนที่ 2 แบบประเมินประเมินการดำเนินงานเพื่อมาตรฐานความปลอดภัยด้านยา 4 มิติ
มิติการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยด้านยา
มิติด้านการบริหารระบบยา
- การจัดการระบบด้านยา
- โครงสร้างกายภาพและสิ่งแวดล้อม
- ระบบข้อมูลที่เชื่อมโยง
- การพัฒนาสมรรถนะบุคลากร
มิติด้านการบริการและบริบาลทางเภสัชกรรม
- การบริการจ่ายยาผู้ป่วยนอก
- การบริการจ่ายยาผู้ป่วยใน
- งานบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก
- งานบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยใน
มิติด้านการจัดการระบบยา
- การติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
- การส่งเสริมการใช้อย่างสมเหตุผล
- งานเภสัชกรรมปฐมภูมิ
มิติด้านการบริหารยาและเวชภัณฑ์
- การผลิตและเตรียมยา
- การคัดเลือกยา
- การจัดซื้อจัดหา
- การบริหารคลังเวชภัณฑ์
ระดับการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยด้านยา
ระดับ | คำอธิบาย |
---|---|
ระดับที่ 0 | ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในตัวชี้วัดดังกล่าว |
ระดับที่ 1 | เริ่มการดำเนินการวางแผน วางโครงสร้างเบื้องต้น |
ระดับที่ 2 (Limited Capacity) | เริ่มการดำเนินการบางส่วน เริ่มเรียนรู้การดำเนินการ |
ระดับที่ 3 (Developed Capacity) | ได้ดำเนินการในตัวชี้วัดนั้นแล้ว งานแล้วเสร็จ บางส่วนยังดำเนินการ |
ระดับที่ 4 (Demonstrated Capacity) | ได้ดำเนินการในตัวชี้วัดแล้วเสร็จ ยังมีความท้าทายด้านความยั่งยืน |
ระดับที่ 5 (Sustainable Capacity) | ระบบมีการดำเนินการอย่างยั่งยืน สามารถเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ |
หลักการพื้นฐาน: ความสำเร็จของแต่ละระดับเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอนจากความสำเร็จและการประยุกต์ใช้ทรัพยากรและศักยภาพในระดับก่อนหน้านั้น และผู้ถูกประเมินต้องนำเสนอหลักฐานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ อย่างชัดเจน
แนวทางในการตอบแบบประเมิน
ผู้ประเมินดำเนินการตรวจสอบว่าได้มีการดำเนินงานตามข้อกำหนดแล้วเสร็จในมาตรฐานความปลอดภัยด้านยาครบถ้วนทุกข้อในแต่ละระดับ ถึงจะประเมินได้ว่าได้คะแนนในระดับนั้น และสามารถประเมินในระดับที่สูงขึ้นได้
ในการประเมินตนเองต่อไปนี้ ขอความกรุณาท่านประเมินตามความจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในหน่วยงานของท่าน เพื่อข้อมูลที่ได้จะสะท้อนสถานการณ์การจัดการระบบยาของสถานพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการออกแบบกิจกรรม หรือสิ่งสนับสนุนเพื่อการพัฒนาระบบยาของประเทศในภาพรวมต่อไป